Tuesday, 21 March 2023

เรือหลวงสุโขทัย ล่ม อัปเดตยอดสูญหาย 30 นาย จากเดิม 31 พบลากิจ 1 ไม่ได้ขึ้นเรือ

ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 เผยปูพรมค้นหาลูกเรืออีก 30 นาย ที่สูญหายอย่างเต็มความสามารถ ยืนยันว่าบน เรือหลวงสุโขทัย มีเสื้อชูชีพกับพวงชูชีพสำหรับลูกเรือทุกคน

พลเรือโทพิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 1 ยืนยันว่าลูกเรือของเรือหลวงสุโขทัยที่จมทะเลสามารถค้นหาและช่วยเหลือได้แล้ว 75 ราย โดยรายล่าสุดที่เรือหลวงกระบุรีได้นำมาขึ้นที่ท่าบางสะพาน คือ พันจ่าเอกนที ทิมดี ภายหลังจากทีมค้นหาพบว่านอนหมดสติลอยคอกลางทะเล

โดยหลังจากเรือจอดเทียบท่าสนิท ก็ได้นำส่ง พ.จ.อ.นที ที่สามารถเดินขึ้นเรือมาที่เปลผู้ป่วยได้เอง ก่อนที่กู้ภัยจะนำส่งยังโรงพยาบาลบางสะพาน ซึ่งพบว่า มีบาดแผลบริเวณศีรษะ และข้อเท้าและมีอาการตาแดง
แต่อาการโดยรวมปลอดภัย มีสติพูดคุยได้ แต่ก็มีสภาพอิดโรยอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะว่าลอยคออยู่ในน้ำนานกว่า 10 ชั่วโมง

เรือหลวงสุโขทัย ล่ม อัปเดตยอดสูญหาย

ด้าน นาวาโทไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ ผู้บัญชาการเรือหลวงกระบุรี

เป็นทีมค้นหา ยืนยันว่ากำลังพลคนล่าสุด ที่ได้รับความช่วยเหลือ ก็คือ พ.จ.อ.นที ทิมดี เป็นกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย สภาพปลอดภัย แต่ก็มีอาการอ่อนแรง

พร้อมกับเล่าวินาทีที่ได้เข้าไปช่วยเหลือกำลังพลนายนี้ว่า ทีมค้นหาได้รับแจ้งจากเฮลิคอปเตอร์ที่บินค้นหา ว่าพบพวงชูชีพประมาณ 4 พวง ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 4 ไมล์ หรือประมาณ 8 กิโลเมตร แต่มองไม่เห็นว่ามีคนอยู่หรือไม่ จึงได้นำเรือหลวงกระบุรีเข้าไปดู

ปรากฎว่าเจอแค่เพียงคนเดียวลอยกอดชูชีพอยู่ นอกนั้นเป็นพวงชูชีพเปล่า จึงนำเรือเข้าไปรับ ทราบว่าลอยอยู่ประมาณ 10 ชั่วโมง แต่ยังพอมีสติและมีแรงดึงขึ้นเรือได้อย่างปลอดภัย แต่ก็มีแผลถลอกแค่เล็กน้อย บริเวณศีรษะและตาที่เจ็บเพราะโดนน้ำทะเลมาก

เรือหลวงสุโขทัย ล่ม อัปเดตยอดสูญหาย30 นาย

สำหรับปฎิบัติการค้นหาลูกเรืออีก 30 นาย ที่เหลือ

จะดำเนินการต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยจะใช้เรือทั้งหมด 4 ลำใหญ่ ก็คือ เรือหลวงอ่างทองเป็นเรือควบคุมสั่งการ ส่วนที่เหลือก็คือเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงนเรศวร ซึ่งเป็นเรือที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือที่จะเข้ามาช่วย โดยจะวางกระจายจุดในพื้นที่ 30 ตารางไมล์ทะเล

ขณะกองทัพอากาศก็จะส่งอากาศยานมาร่วมการค้นหาในการบินตรวจหาเรดาร์ ร่วมกันกับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งถ้าพบจะมีชุดปฎิบัติการพิเศษทั้งมนุษย์กบ กรมสรรพพาวุธและกองทัพอากาศ โดยจะส่ง นักประดาน้ำลงไป เพื่อไปพยุงและนำขึ้นเรือให้เร็วขึ้น

พร้อมทั้งยืนยันว่า จะค้นหากำลังพลที่เหลือ และช่วยทุกคนให้ได้ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ ส่วนขวัญและกำลังใจของทีมค้นหาพร้อมตลอดเพื่อที่ช่วยเหลือให้ได้ เบื้องต้น เชื่อว่าหากลูกเรือที่ใส่ชูชีพหรือมีพวงชูชีพจะสามารถลอยอยู่ได้นาน 48 ชั่วโมง ดังนั้นในวันนี้ (20 ธ.ค.) พยายามค้นหาให้หมด

ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 1 ออกมายอมรับว่า ชูชีพบนเรือไม่ได้มีครบตามจำนวนกำลังพล 106 คน แต่ยืนยันว่า ยังมีอุปกรณ์ช่วยพยุงสำหรับกำลังพลที่เหลือ และช่วงเกิดเหตุกำลังพลทุกคน ขึ้นไปเกาะอยู่บริเวณกาบเรือ เพื่อเตรียมสละเรือ เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าจะไม่มีกำลังพลติดอยู่ในเรือ

พร้อมกับยืนยันว่าการตัดสินใจสละเรือไม่ได้ล่าช้า แต่เป็นไปตามขั้นตอน และระเบียบการปฎิบัติทุกขั้นทุกตอน ส่วนสาเหตุที่น้ำเข้าห้องเครื่องจำนวนมาก ยอมรับเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะว่าเหตุเช่นนี้ยากที่จะเกิดขึ้นกับเรือรบ
ซึ่งหลังจากนี้จะตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

ล่าสุด แต่ภาคที่ 1 ระบุว่า ผู้สูญหาย ตอนนี้ ก็คือ 30 นาย แต่ไม่ได้เป็นการพบเพิ่มเติม แต่จากเดิมที่ระบุตัวเลขสูญหาย 31 นาย แต่เป็นการไปตรวจสอบข้อมูลพบรายชื่อที่ต้องขึ้นเรือ 106 นาย แต่ลากิจ 1 นาย ไม่ได้ขึ้นไปกับเรือ เท่ากับเหลือขึ้นเรือจริงๆ 105 นาย ขณะนี้ต้องเร่งค้นหาอีก 30 นาย

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า พบเพิ่มอีก 3 นาย แล้วนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และน่าจะเข้าใจคาดเคลื่อน ในขณะที่ในช่วงเช้าวันนี้ จะมีการประชุมวางแผนเพื่อค้นหาและช่วยเหลืออีกครั้ง

เรือหลวง

“เรือหลวงสุโขทัย” ใช้งานยาวนาน 35 ปี ก่อนอับปางกลางอ่าวไทย

จากข้อมูลของกองทัพเรือ ให้ข้อมูลว่าเป็นเรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ (2 ลำ) สังกัดกองเรือฟรีเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ที่เมือง TACOMA ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเรือหลวงสุโขทัย เดิมมีชื่อว่า RTN 252 FT PSMM MK-16 #446 ที่ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบอำนวยการรบที่มีความทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงพร้อมปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติในเวลาเดียวกัน
คือ การป้องกันภัยทางอากาศ ผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

ภารกิจหลักของเรือหลวงสุโขทัยก็คือการปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวนตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง ส่วนภารกิจรองก็คือสนับสนุนภารกิจกองทัพเรือ

เรือหลวงสุโขทัยลำปัจจุบัน เป็นเรือลำที่ 2 หลังจากที่เรือลำแรกได้ปลดระวางไปแล้ว เนื่องจากมีการใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเรือหลวงลำนี้ เป็นเรือหมายเลข 442 วางกระดูกงู เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2527 ขึ้นระวางประจำการ 19 ก.พ. 2530 สร้างโดย Tacoma Boat Building Co, ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความยาวตลอดลำ 76.8 เมตร ความกว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,568 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 87 นาย

ระบบตรวจการณ์
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Decca 1226
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ ZW-06
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ DA-05
โซนาร์ติดใต้ตัวเรือ STN Atlas DSQS-21C
เรดาร์ควบคุมการยิง WM-25
LIROD-8 optical

ระบบอาวุธ

ปืน76/62 มม. จำนวน 1 กระบอก
ปืน 40L70 มม. แท่นคู่ 1 กระบอก
ปืน 20 มม. 2 กระบอก
ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ ฮาร์พูน 2 แท่น (8 ท่อยิง)
ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ อัลบราทรอส 1 แท่น (8 ท่อยิง)
ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น (6 ท่อยิง)

ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย

เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 20V1163 TB83 2 เครื่อง
เพลาใบจักร 2 เพลา

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรือในชุดเดียวกัน เรือหลวงรัตนโกสินทร์ (ลำที่ 2) เรือหลวงสุโขทัย (ลำที่ 2)